ปัญหาที่ชาวสวนไม่เคยชนะ
“พายุ ลม ฝน เราชนะได้ทุกอย่าง แต่พ่อค้าเราไม่เคยชนะได้เลย”
วันนึงผมได้มีโอกาสไปนอนกางเต๊นท์ในสวนทุเรียนของคุณป้าคนนึงแถวระยอง ในคืนนั้นมีรถกระบะหลายคันเข้ามาที่สวนเพื่อมารับซื้อทุเรียน พ่อค้าที่เข้ามาซื้อคัดเลือกลูกทุเรียนไปทีละลูกแล้วทำการแยกกองออกเป็นหลายๆกอง โดยมีคุณป้าเจ้าของสวนคอยยืนตรวจทานอยู่ใกล้ๆ
เวลาล่วงเลยไปจนถึงไหนผมไม่ทราบเพราะนอนไปก่อนแล้ว เช้ามาแปดโมงผมลุกไปอาบน้ำ เจอคุณป้ายืนอยู่ ผมเดินยิ้มเข้าไปทักทายเพราะคิดว่าแกคงอารมณ์ดีที่ขายทุเรียนได้หลายบาท น่าจะเกือบสองล้าน แต่พอเดินเข้าไปใกล้ ผมเห็นคุณป้าหน้าเสีย ยืนมองต้นทุเรียนน้ำตาไหล
หลังจากพูดคุยอยู่ซักพักผมถึงได้เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น เมื่อทุเรียนที่ตัดลงมาแล้ว พ่อค้าจะทำการคัดเกรดว่าทุเรียนลูกไหนเป็นเกรด A B ลูกไหนเป็นเกรด C เพราะเมื่อลูกไหนเคราะห์ร้ายกลายเป็น C ราคาจะหายไปเกือบครึ่งนึง นั่นคือเหตุผลที่คุณป้าถึงต้องฝืนยืนเฝ้าทั้งคืน
แต่การแยกเกรดลูกทุเรียนนั้นไม่ได้มีกฏหมาย หรือกฏเกณฑ์ใดใดที่เป็นกติกาให้ยึดเหนี่ยว ดังนั้นอำนาจจึงตกอยู่ในมือของพ่อค้าผู้คัดเกรดว่า จะสรรหาเหตุผลใดๆมาทำให้ลูกทุเรียนตกเกรดเพื่อให้ได้ราคาถูกลง และทำกำไรให้มากขึ้น
จึงกลายมาเป็นความทุกข์ของชาวสวนที่โดนกดราคาแม้ว่าจะมีคนมารับซื้อถึงในสวน แม้กระนั้นก็ยังมีการโดนกดราคาจาก “ล้ง” หรือตลาดรับซื้อทุเรียนที่ส่วนมากมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ
ตรงนี้สนุกครับ เป็นเรื่องสนุกที่หัวเราะไม่ออก ถ้าใครได้อ่านคงไม่อยากจะเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้จริงๆ
“ล้ง” คือลานกว้างๆ รับซื้อทุเรียนปริมาณมากๆ เพื่อส่งไปต่างประเทศ ล้งจะเป็นตัวกำหนดราคาว่า จะรับซื้อเท่าไร ทุกล้งจะให้ราคาใกล้เคียงกันหมด ชาวสวนต้องตัดทุเรียนไปส่งล้งเพราะถ้าจะขายเองทั้งสวนเป็นพันลูกคงขายไม่ไหว
ช่วงไหนทุเรียนราคาเริ่มสูง เริ่มดี ชาวสวนแทนที่จะได้ผลกำไรให้ชื่นใจ กลับกลายเป็นตรงข้าม เพราะเมื่อไรที่ทุเรียนราคาสูง ล้งจะปิดการรับซื้อพร้อมๆกันทุกล้ง อยู่ๆก็ปิดหยุดรับซื้อไปเลยสามวันบ้าง สี่วันบ้าง
เมื่อล้งหยุดไปสี่วัน ทุเรียนชาวสวนก็ใกล้สุกเต็มที่ พอล้งเปิดรับซื้อวันที่ห้า ล้งให้ราคาเท่าไร ชาวสวนก็ต้องขาย เพราะถ้าไม่ขายทุเรียนทั้งสวนก็จะสุก แล้วก็จะขายใครไม่ได้อีกเลย เพราะทุเรียนสุกต้องแกะกินเลย แล้วจะเอาไปขายพ่อค้าที่ไหนได้ เพราะทุกคนต้องใช้เวลาในการเผื่อขาย
นั่นคือปัญหาการกดราคาที่ชาวสวนไม่เคยชนะเลยซักครั้ง
